โฆษณาต้านคอรัปชั่น

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติกรมหลวงชุมพร


พระประสูติกาล


พระองค์เจ้าอาภากร
เกียรติวงศ์
     พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตรอุดมศักดิ์ (ต้นราชสกุล อาภากร) ทรงเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ ๕ นับลำดับ ราชสกุลวงศ์เป็นพระองค์ที่ ๒๘ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์" ประสูติใน พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ เวลา ๑๔.๕๗ และทรงเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พระองค์ทรงมีพระกนิษฐา และพระอนุชา ร่วมพระมารดา ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และพระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์

ทรงศึกษา


ทรงเครื่องต้นในพระราชพิธีโสกันต์
วันที่ ๕ ม.ค. ๒๔๓๕


เรือหลวงมกุฎราชกุมาร(ลำที่ ๑)


ทรงฉายในประเทศอังกฤษ
ประมาณ พ.ศ.๒๔๓๖-๒๔๓๗
      การศึกษา เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาชั้นแรก ในพระบรมมหาราชวัง มีพระยาอิศรพันธ์โสภร (พูน อิศรางกูร) เป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษา ภาษาอังกฤษกับ Mr.Morant ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ และได้ทรงเข้าเป็นนักเรียน ในโรงเรียนหลวง ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่จนถึงทรงโสกันต์
     ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งในขณะนั้น ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ โดยมีเจ้าพระยา พระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์ เป็นสมเด็จพระมนตรีพจนกิจ เป็นพระอภิบาล ได้เสด็จออกจากกรุงเทพฯ โดย ร.ล.มกุฎราชกุมาร (ลำที่ ๑ ) เมื่อ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ไปยังสิงคโปร์ ต่อจากนั้น ได้ทรงโดยสารเรือเมล์ ชื่อ "ออเดรเบิด" ไปถึงเมืองตูรินในอิตาลี เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม แล้วเสด็จโดยทางรถไฟ ไปยัง กรุงปารีส และลอนดอนตามลำดับ ในขั้นแรก เสด็จในกรมฯ ได้เสด็จประทับ ร่วมกับ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าฯ ที่ "ไบรตัน" และ "แอสคอต" เพื่อทรงศึกษาภาษา และวิชาเบื้องต้น เสด็จในกรมฯ ได้เคยตามเสด็จ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าฯ ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถ วิคตอเรีย ที่พระราชวังวินด์เซอร์ ตลอดจนตามเสด็จ ไปทัศนศึกษาทั้งในอังกฤษ และประเทศในยุโรป จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ เสด็จในกรมฯ จึงเสด็จไป เข้าโรงเรียนส่วนบุคคล สำหรับกวดวิชา เพื่อเตรียมเข้าศึกษา ในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ต่อไป โรงเรียนที่ทรงไปกวดวิชานี้มีชื่อว่า The Seines ตั้งอยู่แขวงกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของกรุงลอนดอน มีนาย Littlejohns เป็นครูใหญ่ ผลการศึกษานี้ พระอภิบาล ได้ทรงกราบบังคมทูลรายงานว่า
     "... ความรู้ภาษาอังกฤษดีขึ้นตามธรรมดา แต่วิชากระบวนทหารเรือชั้นต้น ก็วิ่งขึ้นเร็วตามสมควร แต่การเล่นแข็งแรง เช่น ฟุตบอล เป็นต้น นับว่าเป็นชั้นยอดของโรงเรียน เกือบว่าไม่มีใครอาจเข้าเทียบเทียม..."

ทรงศึกษาในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ

     เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงกวดวิชาแล้ว จึงเข้าศึกษาต่อใน โรงเรียนนายเรืออังกฤษ ในราวปี พ.ศ.๒๔๙๓ การศึกษา ในโรงเรียนนายเรือ ของอังกฤษนั้น จะต้องฝึกหัดศึกษา หลับนอน อยู่ในเรือ ประมาณ ๓-๔ เทอม เมื่อสอบความรู้ได้แล้ว จะมีฐานะเป็น นักเรียนทำการนายเรือ (Midshipman) และไปฝึกในเรือรบ ประจำกองเรือต่างๆ อีกประมาณ ๑-๒ ปี และก็จะทำการสอบ เพื่อเป็นนายเรือตรี ต่อจากนั้น ศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก เท่ากับนายทหารรุ่นเดียวกัน เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงเป็นนักเรียนทำการนายเรือ ในราชนาวีอังกฤษ ทรงเล่าว่า "...เมื่อเป็นนักเรียนทำการนายเรือ ในราชนาวีอังกฤษ ได้มีโอกาสขึ้นทำการปราบจลาจล ที่เกาะครีท ที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นเวลาราว ๓ เดือน ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย หนาวก็หนาว ในสนามรบ ต้องนอนกับศพที่ตายใหม่ๆ และบางคราว ซ้ำยังอดอาหาร ต้องจับหอยทาก มาเสวยกับหัวหอม ศพที่ถูกยิงที่ท้องนับว่าเหม็นร้ายกาจมาก ถึงจะเป็นศพตายใหม่ๆ ก็ตาม..." รวมเวลาที่เสด็จในกรมฯ ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ๖ ปีเศษ

ทรงเครื่องแบบนักเรียนทำการนายเรือ
เมื่อมาเฝ้าสมเด็จพระชนกนาถ
ที่เมืองเบงกอล พ.ศ.๒๔๔๐
 
เรือพระที่นั่งมหาจักรี
     ในขณะที่เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นนักเรียนนายเรือ อยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น ประจวบกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสยุโรป เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ เสด็จในกรมฯ ทรงขอลาทางโรงเรียน มารับเสด็จ สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยเข้าร่วมกระบวนเสด็จ ที่เกาะลังกา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่ง นักเรียนนายเรือ ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ภายใต้การบังคับบัญชา ของผู้บัญชาการเรือ และได้ทรงถือท้าย เรือพระที่นั่งมหาจักรี ด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงแสดงความสามารถ ให้ปรากฏแก่พระเนตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ นอกจากนั้น ในลายพระหัตถเลขาของ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ ที่พระราชทาน สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ได้กล่าวถึง เสด็จในกรมฯ ความว่า
"...ในเวลาที่เขียนหนังสืออยู่นี้ อาภากร กับหลวงสุนทรมาถึง อาภากรโตขึ้นมาก และขาวขึ้น เขาแต่งตัวมิดชิพแมน (Midshipman) มาพร้อมแล้ว ฉันได้มอบให ้อยู่ในบังคับ กัปตัน เป็นสิทธิขาด เว้นแต่วันนี้ เขาอนุญาตให้มากินข้าว กับฉันวันหนึ่ง..." เมื่อเสด็จในกรมฯ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ ในเรือพระที่นั่งมหาจักรีแล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงมีพระราชปรารภ เกี่ยวกับเสด็จในกรมฯ ว่า "...ชายอาภากรนั้น อัธยาศัยเป็นคนซื่อมาแต่เดิม เป็นผู้ที่สมควรแก่วิชาที่เรียนอยู่แล้ว ไม่เป็นคนที่มีอัธยาศัย ที่จะใช้ฝีปากได้ ในกิจการพลเรือน แต่ถ้าเป็นการในหน้าที่อันเดียว ซึ่งชำนาญ คงจะมั่นคงในทางนั้น และตรงไปตรงมา การที่ได้พบคราวนี้ นับว่าอัธยาศัยดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก" เมื่อพระองค์ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมชนกนาถ ไปในเรือพระที่นั่ง จนถึงประเทศอังกฤษแล้ว จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ต่อไป หลังจากทรงสำเร็จ การศึกษาที่โรงเรียนนายอังกฤษแล้ว ก็เสด็จกลับประเทศไทย โดยทางเรือ ดังปรากฏรายละเอียด ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๗ ร.ศ.๑๑๙ ดังนี้
     "...ได้เสด็จลงเรือเมล์เยอรมัน ชื่อ "เบเยน" ที่เมืองเยนัว เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ วันที่ ๗ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ถึงเมืองสิงคโปร์ หลวงภักดีบรมนารถ และหลวงสุนทรโกษา ได้ออกรับเสด็จ ได้เสด็จพักอยู่ที่สิงคโปร์ คืนหนึ่ง รุ่งขึ้นวันที่ ๘ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ได้เสด็จลงเรือเมล์ชื่อ "สิงคโปร์" ออกจากสิงคโปร์ ต่อมาวันที่ ๑๑ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ เวลาทุ่มเศษถึงปากน้ำ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา และพระยาสีหราชเดโชไชย หลวงปฏิยัตินาวายุกต์ นำเรือสุริยะมณฑล ออกไปคอยรับเสด็จอยู่ ณ ที่นั้นแล้วทรงเรือไฟ มาขึ้นที่เมืองสมุทรปราการ ทางรถไฟจากที่นั่น มาถึงสเตชั่นหัวลำพองเวลายามเศษ แล้วเสด็จทรงรถต่อไป พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อเสด็จไปรับ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ที่สเตชั่นรถไฟ เสด็จถึงแล้ว ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในรถพระที่นั่ง ที่ถนนเจริญกรุง แล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง ครั้นรุ่งขึ้น วันที่ ๑๒ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ เวลาสองทุ่มเศษ โปรดเกล้าฯ ให้มีการเลี้ยง พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทาน เป็นเกียรติแก่ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า อาภากรเกียรติวงศ์ ที่พลับพลาสวนดุสิตด้วย..."

ทรงเครื่องแบบนักเรียนนายเรือไทย
ทรงฉายประมาณ ก.ย. ๒๔๔๐
     เสด็จในกรมฯ จึงนับเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์แรก ของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้เสด็จไปทรงศึกษา เกี่ยวกับ วิชาการทหารเรือ ยังต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำริว่า
     "...กิจการทหารเรือไทย เท่าที่ได้เป็นอยู่ในขณะนั้น ต้องอาศัยชาวต่างประเทศ เป็นผู้บังคับบัญชาการเรือ และป้อม อยู่เป็นอันมาก จึงไม่สู้ จะมีความมั่นคงเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จาก เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๖๓) เป็นตัวอย่างอันดี ฉะนั้น จึงนับว่า เป็นพระราชดำริ ที่เหมาะสม ในการส่ง พระราชโอรส ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือในครั้งนี้..."

ทรงรับราชการทหารเรือ

     หลังจากที่เสด็จในกรมฯ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯแล้ว ในวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๓ จึงได้รับ พระราชทานยศ เป็น นายเรือโท (เทียบเท่า นาวาตรีในปัจจุบัน) ทั้งนี้ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ จะให้เป็น ผู้บังคับการเรือปืน ที่กำลังจัดซื้อ คือ ร.ล.พาลีรั้งทวีป หรือ ร.ล.สุครีพครองเมือง ลำใดลำหนึ่ง ในขั้นแรก ทรงรับราชการ ในตำแหน่ง "แฟลคเลบเตอร์แนล" (นายธง) ของผู้บัญชาการกรมทหารเรือ คือ พลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม เสด็จในกรมฯ ได้ทรงสำรวจการป้องกัน ลำน้ำเจ้าพระยา และได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานต่อ ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ โดยละเอียด ทรงริเริ่มกำหนด แบบสัญญาณธงสองมือ และโคมไฟ ตลอดจนเริ่มฝึกพล "พลอาณัติสัญญา" (ทัศนสัญญาณ) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ พลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ทรงพอพระทัย ในการปฏิบัติงานของ เสด็จในกรมฯ มาก ทรงยกย่องว่า ทรงมีความรู้จริง และมีความกระตือรือร้น ที่จะทำงาน
     ในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๔ เสด็จในกรมฯ ได้รับพระราชทานยศ เป็นนายเรือเอก (เทียบเท่า นาวาเอกในปัจจุบัน) และได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสชวา ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ในระหว่างวันที่ ๕ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ครั้นต่อมา ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๔ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เป็น รองผู้บัญชาการ กรมทหารเรือ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศ เสด็จในกรมฯ จากนาวาเอก เป็นพลเรือตรี และคงทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ครั้นในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ในปีเดียวกันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศ เป็น กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พิธีสมรสพระราชทาน


ทรงฉายร่วมกับหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ พระชายา
     สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงเป็น พระราชโอรส ลำดับที่ ๔๕ในรัชกาลที่ ๔  และทรงเป็น พระอนุชา ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระเมตตา และสนิทสนมยิ่งนัก (ทรงเป็น "เสด็จตา" ของพระองค์เจ้าภาณุพพันธ์ยุคล)
     สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ทรงมีพระธิดาองค์โต หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ครั้นพอเสด็จในกรมฯ สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ กลับมารับราชการแล้วนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ได้ทรงสู่ขอพระธิดาองค์โต ของพระอนุชามาพระราชทานเสกสมรสให้
     สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีงานมงคลพิธี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ มีเลี้ยงน้ำชา ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ และมีงานราตรีสโมสร ซึ่งถือว่า เป็นครั้งแรกที่พิธีเสกสมรส จัดงานราตรีสมโภชคู่บ่าวสาว ให้เชิญทั้งไทย ทั้งฝรั่ง มีการเต้นรำอย่างธรรมเนียมสากลด้วย เป็นพิเศษ และ พระราชทานวังใหม่ ให้ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม
     แต่ทว่าเป็นที่สลดสะเทือนใจนัก เพราะหลังจากเสกสมรสไม่กี่ปีต่อมา ความรักของหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ กับเสด็จในกรมฯ ก็มิได้ราบรื่นงดงาม ตามพระประสงค์ของ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ ทรงมีเหตุให้น้อยพระทัย พระสวามี ทรงดื่มยาพิษ สิ้นชีพิตักษัย
     สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงสลดพระทัยนัก เนื่องเพราะทรงเป็นผู้สู่ขอ ด้วยพระองค์เอง และทรงเป็นพระปิตุลาโดยตรง ของหม่อมเจ้าหญิงอีกด้วย เหตุนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงมีพระเมตตา ต่อพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ของหม่อมเจ้าหญิงเป็นพิเศษ ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็นพระองค์เจ้า คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเป็น "หลานรัก" ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระเมตตาเอ็นดูเป็นพิเศษ

พระโอรสและพระธิดา


จากซ้าย
หม่อมเจ้า สมรบำเทอง อาภากร
หม่อมเจ้าครรชิต อาภากร
หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร
กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
หม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ อาภากร
     พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระโอรสเกิดแก่หม่อมเจ้าทิพย์สัมพันธ์ พระชายา พระธิดาจอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมวงศาภิมุข เจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ๒ พระองค์ คือ
     ๑. พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา 
     ๒. พลอากาศโท หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร

    พระโอรสและพระธิดา อันเกิดแก่หม่อม ดังรายพระนามต่อไปนี้
๑. หม่อมเจ้าหญิง จารุพัตรา อาภากร
๒. หม่อมเจ้าหญิง ศิริมาบังอร (อาภากร) เหรียญสุวรรณ
๓. หม่อมเจ้า สมรบำเทอง อาภากร
๔. หม่อมเจ้าหญิง เริงจิตรแจรง อาภากร
๕. พันเอก หม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ อาภากร
๖. พลเรือเอกหม่อมเจ้าครรชิต อาภากร
๗. หม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร

เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ

     ในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นาวาเอก หม่อมไพชยนต์เทพ (ม.ร.ว.พิณ สนิทวงศ์) เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ออกจากราชการ ตามที่ได้กราบบังคมทูลลา ฉะนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงทำการในตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ จนถึง พ.ศ.๒๔๔๙ จึงได้ทรงเป็น เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ      เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือแล้ว ได้ทรงแก้ไข ปรับปรุงการศึกษา ระเบียบการ ในโรงเรียนนายเรือทุกอย่าง ทั้งฝ่ายปกครอง และฝ่ายวิชาการ ให้รัดกุม ทัดเทียมอารยะประเทศ เพื่อให้ผู้ที่ สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนนี้ เป็นนายทหารเรือ ที่มีความรู้ความสามารถเสมอด้วยกับ นายทหารเรือต่างประเทศ และสามารถทำการแทน ในตำแหน่งชาวต่างประเทศที่รับราชการ อยู่ในกองทัพเรือในขณะนั้นอีกด้วย

พระบิดาแห่งราชนาวีไทย


ประตูโรงเรียนนายเรือเดิม
     ถึงแม้ว่าเสด็จในกรมฯ จะทรงแก้ไข ปรับปรุง ระเบียบการศึกษา ให้มีความก้าวหน้า แต่สถานที่ตั้ง โรงเรียนนายเรือนั้น ไม่มีที่ตั้ง เป็นหลักแหล่งที่มั่นคง ต้องโยกย้าย สถานที่เรียนบ่อยๆ ซึ่งเป็นเหตุผล ประการหนึ่ง ที่ทำให้ผลการเรียน ของนักเรียนนายเรือ ไม่ดีเท่าที่ควร เสด็จในกรมฯ ทรงพยายามทุกวิถีทาง ที่จะปรับปรุงกิจการด้านนี้ ให้ก้าวหน้า จึงได้นำความขึ้น กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานที่ เพื่อตั้งเป็น โรงเรียนนายเรือ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ที่ดินบริเวณ พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี และได้ดัดแปลงเป็น โรงเรียนนายเรือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ จึงนับว่า รากฐานของทหารเรือ ได้หยั่งลงแล้ว ในการนี้ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงกระทำพิธีเปิด โรงเรียนนายเรือ ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๙ ทรงพอพระราชหฤทัย เป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จาก พระราชหัตถเลขา ในสมุดเยี่ยมของ โรงเรียนนายเรือ ความว่า

ลายพระราชหัตถเลขาของ ร.๕
เมื่อทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ
     "วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบไป ในภายน่า"
     เสด็จในกรมฯ ได้ทรงวางรากฐาน ในอันที่จะสร้าง นายทหารเรือไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก ดังจะเห็นได้จาก บันทึกความประสงค์ การตั้งโรงเรียนนายเรือ ของ นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ ทูลเกล้าฯ ถวายนายพลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้า อัษฎางค์เดชาวุธ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ผู้สำเร็จราชการ กรมทหารเรือ เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๗ ว่า      "... ต่อมาเมื่อปี ๒๔๔๘ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพร เขตรอุดมศักดิ์ ได้เสด็จดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษา ทหารเรือ อีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อจัดการ โรงเรียน ได้ทรงเพิ่ม วิชาสามัญชั้นสูงขึ้น กับมีวิทยาศาสตร์ เพิ่มเติมบ้าง ส่วนวิชาการเดินเรือนั้น ก็ทรงให้คงอยู่ ตามความประสงค์เดิม แต่ขยายหลักสูตร กว้างขวางออกไป ทั้งทรงตั้ง โรงเรียน นายช่างกล ขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย..."
     ตามบันทึกนี้ จะเห็นได้ว่า เสด็จในกรมฯ ทรงปรับปรุง การศึกษาของ โรงเรียนนายเรือ ให้เจริญและดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสด็จในกรมฯ ได้ทรงตั้ง โรงเรียน นายช่างกลขึ้น เป็นครั้งแรก เพราะทรงเห็นว่า เมื่อมี โรงเรียนนายเรือ ขึ้นมาแล้ว ก็สมควรจะมี โรงเรียนนายช่างกล ซึ่งเป็นของคู่กันอยู่ด้วย เสด็จในกรมฯ ได้รับผู้สมัคร ที่จะเรียนทางช่างกล จากนักเรียนนายเรือนั่น และปรากฏว่า มีนักเรียนมาสมัครเรียน ทางช่างกลกันมาก พอกับความต้องการทีเดียว
     วิชาสำหรับนักเรียนช่างกล ที่ศึกษานี้ บางวิชาก็เรียนรวมกัน กับนักเรียนนายเรือ และบางวิชา ก็แยกไปศึกษาโดยเฉพาะ ส่วนระเบียบการปกครอง ก็เป็นไปแบบเดียวกับ นักเรียนนายเรือ
     เมื่อมีโรงเรียนเพิ่มขึ้น เป็นสองโรงเรียน ทางราชการจึงได้รวมการบังคับบัญชา โรงเรียนทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน และตั้งเป็นกองบังคับการขึ้นใหม่ เรียกว่า "กองโรงเรียนนายเรือ" คำว่า "กองโรงเรียนนายเรือ" จึงปรากฏใน ทำเนียบทหารเรือ ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา และเพื่อขยายกิจการ ของโรงเรียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก ได้ทรงดำเนินการ จัดซื้อที่ดิน ด้านหลังของโรงเรียนนายเรือ ในขณะนั้น จนจรดคลอง วัดอรุณราชวราราม (เว้นทางหลวง) ทรงสร้างโรงงานช่างกล สำหรับฝึกหัด นักเรียนช่างกล และได้สร้างโรงอาหาร สำหรับนักเรียนนายเรือ ต่อกันไปจากโรงงาน บริเวณนอกจากนั้น ให้ทำเป็นสนาม ซึ่งต่อมาพื้นที่บริเวณ สนามด้านหน้าวัด โมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) ก็ได้จัดสร้าง เป็นโรงเรียนจ่าขึ้น จึงทำให้บริเวณกว้างขวางขึ้นอีกมาก
     อนึ่ง เสด็จในกรมฯ ทรงเห็นว่า ควรจะได้ฝึกหัดให้ ทหารเรือไทยเดินเรือทะเล ได้อย่างชาวต่างประเทศ เพราะในสมัยนั้น คนไทยยังต้องจ้าง ชาวต่างประเทศ มาเป็นผู้บังคับการเรือ เป็นส่วนมาก สำหรับคนไทยที่มีความสามารถ เดินเรือทะเลบริเวณ อ่าวไทยได้ ก็มีแต่พวกอาสา จากบางคนที่อาศัยความชำนาญ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวด้วย หลักวิชาเลย ดังนั้นเสด็จในกรมฯ จึงได้ทรงริเริ่มที่จะ ทำการฝึกหัด และสั่งสอนนายทหารเรือ ให้มีความรู้ความชำนาญ ในการเดินเรือทะเล มากยิ่งขึ้น ซึ่งนับได้ว่า เป็นพระดำริที่ดี และสำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง ในทางการทหารเรือ ของราชนาวีไทย และทางกองเรือ ก็ได้ยึดถือแบบฉบับ อันดีงามนี้ ดำเนินการต่อมา จนตราบเท่าทุกวันนี้
     สำหรับวิธีการขั้นแรก ที่เกี่ยวกับการผลิต นายทหารเรือชุดแรก ออกไปรับราชการนั้น เสด็จในกรมฯ ได้ให้นักเรียนชั้นสูง ซึ่งบางคนมีอายุตั้ง ๓๐ ปี สอบไล่เพื่อออกเป็น นายทหารชุดหนึ่งก่อน ส่วนที่ยังคงเหลืออยู่ ให้ยุบลงไปเรียนชั้นเตรียมหมด และประทานโอกาสไว้ว่า ผู้ที่สอบไล่ได้แล้ว จะออกเป็นนายทหารก็ได้ หรือต้องการจะกลับเข้ามา เป็นนักเรียนใหม่อีกก็ได้ โดยเสด็จในกรมฯ ได้ทรงวางหลักสูตร การเรียนของนักเรียนทุกชั้น ขึ้นใหม่หมด เพราะหลักสูตรเดิมยังอ่อน และยังใช้การทางทะเลไม่ได้ โดยเสด็จในกรมฯ ได้ทรงเพิ่มวิชาต่างๆ เข้าไปไว้ในหลักสูตรอีกมาก เช่นวิชาตรีโกณเมตริ แอลยิบร่า ยีโอเมตรี การเรือ ดาราศาสตร์ แผนที่ ภาษาอังกฤษ ช่างกล และอื่นๆ ที่ทรงเห็นว่า สำคัญ อีกหลายวิชา พระองค์ได้ทรงจัดหลักสูตรใหม่ ดังนี้
          ๑. แบ่งนักเรียนออกเป็น ๔ ชั้น
          ๒. แบ่งภาคเรียนออกเป็น ๔ ภาค ภาคละ ๓ เดือน

     สำหรับวิชาภาคต่างๆ เช่น วิชาดาราศาสตร์ เดินเรือ แผนที่ ตรีโกณโนเมตรีเส้นโค้ง พีชคณิตตอนกลาง และตอนปลาย เสด็จในกรมฯ ก็ทรงสอนเองโดยตลอด ในการจัดหลักสูตรใหม่ครั้งนี้ ปรากฏว่า พลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ซึ่งสอบไล่ได้แล้ว แต่สมัครใจที่จะกลับเข้ามาเรียน หลักสูตรใหม่นี้เพียงคนเดียว จึงได้มีโอกาสเรียน กับพระองค์ตัวต่อตัว โดยใช้เวลาเพียง ๑ ปี จบหลักสูตรใหม่นี้
     ในเรื่องการปกครองนั้น เสด็จในกรมฯ ทรงใช้ระเบียบวิธีการปกครองตามแบบในเรือรบ โดยแบ่งออกเป็น ๘ ตอน คือ
          ตอน ๑ เรียกว่า หัวเรือขวา
          ตอน ๒ เรียกว่า หัวเรือซ้าย
          ตอน ๓ เรียกว่า เสาหน้าขวา
          ตอน ๔ เรียกว่า เสาหน้าซ้าย
          ตอน ๕ เรียกว่า เสาหลังขวา
          ตอน ๖ เรียกว่า เสาหลังซ้าย
          ตอน ๗ เรียกว่า ท้ายเรือขวา
          ตอน ๘ เรียกว่า ท้ายเรือซ้าย

     และถือเอาเรือใบสามเสา เป็นเกณฑ์ ส่วนช่างกลแบ่งออกเป็น ๒ ตอนนั้น คือ ตอน ๑ ตอน ๒ เรียกว่า ช่างกลกราบขวา และช่างกลกราบซ้าย ส่วนการบังคับบัญชานั้น ให้นักเรียนชั้นสูง บังคับบัญชานักเรียนชั้นรองๆ ลงมา เพื่อเป็นการฝึกหัดปกครอง ไปในตัวโดยมีหัวหน้ากัปตันตอน ซึ่งได้รับเงินเพิ่มจากปกติเดือนละ ๒๐ บาท และกัปตันตอนได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ ๑๗ บาท นอกจากนี้เสด็จในกรมฯ ได้ให้กรมยุทธโยธาทหารเรือ สร้างเสาธงขึ้นหนึ่งเสาตามแบบ ในเรือทูลกระหม่อมมีพรวน ๗ ชั้น พร้อมด้วย เครื่องประกอบและ เชือก เสา เพลา ใบ แล้วทรงหัดให้นักเรียนขึ้นเสา และประจำพรวน กางใบ ม้วนใบลดพรวนลงดิน เอาพรวนเข้าติดที่ ถอดเสาท่อนบนลง เอาเสาท่อนบนขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และลำบากมากเสด็จในกรมฯ ทรงเอาพระทัยใส่ต่อวิชาเรียนแผนกนี้ อย่างจริงจัง เพราะกว่าจะเลิกฝึก ก็เป็นเวลาราวๆ ๑๙.๐๐ ทุกวันไป และเสด็จในกรมฯ ได้ทรงจัดให้มี เรือกรรเชียงไว้ฝึกหัดตี และแล่นใบด้วย ทั้งทรงให้มีกองแผนที่ทะเล และให้พิมพ์แบบเชือกขึ้นไว้ เพื่อเป็นตัวอย่าง ในการเรียนผูกเชือก แบบต่างๆ อีกด้วย
     ในทางด้านการกีฬา เสด็จในกรมฯ ได้ทรงขอครูมาจาก กระทรวงธรรมการ เพื่อมาสอนบาร์คู่ บาร์เดี่ยวและห่วง เพื่อให้นักเรียนฝึกหัด จนได้ผลเป็นอย่างดียิ่ง เพราะปรากฏว่า นักเรียนมีสุขภาพดี และแข็งแรงขึ้นเป็นอันมาก และทุกวันพฤหัสบดี ตอนบ่ายทุกคนต้องทำความสะอาดเรียบร้อยทุกอย่าง เช่น เตียงนอนเครื่องสนาม หม้อข้าว หีบเสื้อผ้าตลอดจนเล็บ ฟัน เป็นต้น

เรือยงยศอโยชฌิยา
     ใน พ.ศ.๒๔๔๙ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงนำนักเรียนนายเรือทั้งหมด ไปฝึกหัดทางทะเล ด้วยเรือยงยศอโยชฌิยา เรือลำนี้เป็นเรือกลไฟ ขนาดกลาง มีเสาใบพร้อม แต่ทรงให้ติดพรวนชั้นต่ำขึ้นอีกเป็นพิเศษ และได้ให้นักเรียนขึ้นเสา ลงเสา กางใบ ถือท้ายใช้เข็มทิศ ทิ้งดิ่งและการเรือทุกชนิด เวลาใดที่มีคลื่นจัด เรือลำนี้ก็จะโคลง จึงทำให้นักเรียนทั้งหลาย หายเมาคลื่นไปตามๆ กัน แต่ทรงฝึกให้ บรรดานักเรียนทั้งหลาย หายเมาคลื่น โดยให้ขึ้นลงเสาจนชิน เพราะทรงถือว่า "ทหารเรือต้องเมาคลื่นไม่เป็น" การไปฝึกครั้งนี้ ได้ไปทางภาคตะวันออก ของอ่าวไทย จนถึงจังหวัดจันทบุรี ราวหนึ่งเดือนจึงกลับ ภายใต้การบังคับบัญชา ของพระองค์ท่าน และพลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ปรากฎผลว่านักเรียน มีความคล่องแคล่ว และเข้มแข็งในการเดินเรือเป็นอย่างดียิ่ง
     นอกจากทรงใฝ่พระทัย ในด้านการศึกษาของ นักเรียนนายเรือแล้ว เสด็จในกรมฯ ทรงดำริ สำหรับการช่วยเหลือราษฎร ในด้านการดับเพลิงนั้น ควรจะได้ให ้นักเรียนนายเรือ ได้มีการฝึก ทำการช่วยเหลือราษฎร ทำการดับเพลิง เนื่องจากในสมัยนั้น พระนครธนบุรี ไม่มีกองดับเพลิง ที่อื่นเลย นอกจากที่กรมทหารเรือแห่งเดียว เพราะมีเรือสูบน้ำ และเรือกลไฟเล็ก ซึ่งขึ้นอยู่กับกรมเรือกลอยู่แล้ว และมีหน้าที่ดับเพลิง ฉะนั้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ที่ใด เรือกลไฟจะทำหน้าที่ ลากจูงเรือสูบน้ำ ไปทำการดับเพลิง เป็นประจำ ทรงตั้งกองดับเพลิงขึ้นโดยมี
     ๑. กองถัง
     ๒. กองขวาน
     ๓. กองผ้าใบกันแสงเพลิง
     ๔. กองรื้อและตัดเชื้อเพลิง
     ๕. กองช่วย
     ๖. กองพยาบาล
     ต่อมา จึงได้เพิ่ม กองสายสูบขึ้น อีกกองหนึ่ง ในกองนี้ ได้ทรงจัดให้ นักเรียนนายช่างกล ทำหน้าที่ร่วมกับ นักเรียนอื่นๆ และเพื่อความชำนาญ ใหัมีการเปลี่ยนกันไปบ้าง ตามความสามารถ ของนักเรียน
     การปฏิบัติงานของ กองดับเพลิงนั้น ได้รับคำชมเชยอยู่เสมอ ดังเช่น ในวันที่ ๔ และ ๕ เมษายน ๒๔๔๙ ได้เกิดเพลิงไหม้ ขนานใหญ่ที่ ตำบลราชวงศ์ กองดับเพลิง ได้ทำการดับเพลิง อย่างเข้มแข็ง จนได้รับคำชมเชยดังนี้
     "...วันที่ ๖ เมษายน ๒๔๔๙ กรมทหารเรือได้ลงคำสั่งที่ ๘/๑๓๘ ให้ทราบทั่วกันว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงสรรเสริญ ความอุตสาหะ ของกรมทหารเรือ ในการดับเพลิง ที่ตำบลถนนราชวงศ์ เมื่อวันที่ ๔ และ ๕ เมษายน ๑๒๕..."  จึงให้กรมกองประกาศให้ นายทหาร พลทหาร และพลนักเรียนทราบทั่วกัน
     เสด็จในกรมฯ ได้ทรงฝึกหัดอบรม สั่งสอนนักเรียนนายเรือแล้ว ยังได้ทรงเห็นความสำคัญ ในการศึกษาของ พลทหารเรือ ซึ่งถูกเกณฑ์ มารับราชการอีกด้วย จึงได้ทรงตั้งโรงเรียนต่างๆ ดังนี้
วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑ ที่จังหวัดสมุทรสงคราม
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๒ จังหวัดสมุทรสาคร
วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๕ ที่ ตำบลบางพระ จังหวัดชลบุรี และตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๖ ณ ตำบลบ้านแพ จังหวัดระยอง และตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๗ ที่ จังหวัดจันทบุรี 
วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๔ จังหวัดสมุทรปราการ 
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๓ ที่จังหวัดพระประแดง

     ในการตั้งกองโรงเรียนต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วนี้ นอกจากจะได้ฝึกหัดอบรม พลทหารเรือ ให้ได้รับการศึกษาแล้ว ยังทรงหวัง ที่จะให้เป็นหน่วยกำลังทหาร สำหรับ รักษาชายฝั่งทะเลอีกด้วย สิ่งก่อสร้างก็ดี กิจการต่างๆ ของแต่ละกองก็ดี ได้จัดทำขึ้นคล้ายคลึงกันและแล้วแต่ความเหมาะสม กับสถานที่ของหน่วยนั้นๆ และพระองค์ได้เสด็จ ไปทรงดูแลสั่งสอนทหาร ตามกองโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิดเสมอ จะเห็นได้จาก กองจดหมายของนาวาตรี หลวงรักษาทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต) เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
     "...เรื่องปลูกสร้าง ตั้งกองทหารที่บางพระ ชลบุรี เมื่อปลูกสร้างเสร็จแล้ว ได้แบ่งเอาทหารที่อยู่ ในกรุงเทพฯ ทั้งฝ่ายบกและฝ่ายเรือ ตลอดจนฝ่ายธุรการ ทุกแผนก แห่งละครึ่งหนึ่ง ให้เตรียมตัวขนของ ลงบรรทุกเรืออยู่ ๓ วัน คือ เรือมกุฎราชกุมาร เรือมูรธาสิตสวัสดิ์ เรืออัคเรศรัตนาสน์ เรือสุริยะมณฑล เรือนฤเบนทรบุตรี เรือจำเริญ รวม ๖ ลำ บรรทุกของเพียบไปตามๆ กันเสร็จแล้วออกเรือ แต่เจ้าพ่อประทับ ในเรืออัคเรศฯ พร้อมด้วยพวกฝ่ายธุรการ..."
     นอกจากนี้เสด็จในกรมฯ ยังได้ทรงฝึกหัดให้ ทหารเรือได้ซ้อมรบบนบก ในบริเวณจังหวัดชลบุรี เพื่อให้ทหารเรือมีความรู้ ความชำนาญในทางบกอีกด้วย

อวดธง

     ใน พ.ศ.๒๔๕๐ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงนำ คณะนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกล ประมาณ ๑๐๐ คนไป "อวดธง" ที่สิงคโปร์ ปัตตาเวีย ชวา และเกาะบิลลิทัน โดย ร.ล.มกุฎราชกุมาร (ลำที่ ๑) ในการเดินทาง ไปต่างประเทศ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และเสด็จในกรมฯ ทรงเป็นผู้บังคับเรือเอง พร้อมด้วยนักเรียน และทหารประจำเรือ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยทั้งสิ้น เสด็จในกรมฯ ได้ทรงแบ่งเจ้าหน้าที่ประจำเรือดังนี้ 
     ๑. ผู้บังคับการเรือ 
     ๒. ผู้ช่วยผู้บังคับการเรือ (คือตำแหน่งต้นเรือในปัจจุบัน) 
     ๓. ยกกระบัตร (คือฝ่ายพลาธิการ) 
     ๔. แพทย์ 
     ๕. นายทหารประจำเรือ เช่น ต้นหน ต้นปืน เป็นต้น 
     ๖. หัวหน้าช่างกล (คือต้นกล) และตำแหน่งช่างกล มี รองต้นกลและนายช่างกล

ทรงฉายร่วมกับศิษย์ที่สำเร็จ
การศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ
แถวนั่ง
๑. พลเรือโท พระยาราชวังสัน
๒. กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์
๓. พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร
แถวยืน
๑.เรือโทตรุส บุนนาค
๒. นายเรือตรี ผู้ช่วย นายแนบ
     ในการออกฝึก และอวดธงยังต่างประเทศ ครั้งแรกนี้ ทรงบัญชาการ ฝึกนักเรียนนายเรือ ด้วยพระองค์เอง ให้นักเรียนทำการ ฝึกหัดปฏิบัติการในเรือ ทุกอย่าง เพื่อให้มีความอดทน ต่อการใช้ชีวิต ด้วยความลำบาก เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และเพื่อให้เป็น ผู้เชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติหน้าที่ ของตนจริงๆ มีความกล้าหาญรักชาติ ให้รู้จักชีวิต ของการเป็นทหารเรือ โดยแท้จริง ซึ่งจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติการต่างๆ ในเรือรู้จักหน้าที่ ตั้งแต่พลทหาร จนถึงนายทหาร นักเรียนนายเรือ ได้ฝึกอย่างจริงจัง เผชิญทั้งภัยธรรมชาติ ทั้งการฝึกของพระองค์ ดังจะกล่าวให้ทราบ เพียงบางส่วน เช่น ในระหว่างที่เรือแล่นจาก สิงคโปร์ เรือได้แล่นลัดช่องทางเดินเรือ ระหว่างเกาะแก่ง มาหลายวัน ขณะที่แล่นอยู่ในระหว่าง เกาะเล็กๆ ๒ ข้าง ปรากฏเป็นคลื่นคะนอง คลื่นลูกใหญ่ซัดเรือ ทำให้เรือเอียงไปมา เสด็จในกรมฯ ซึ่งขณะนั้น ประทับอยู่ท้ายเรือ รีบเสด็จขึ้นไปบน สะพานเดินเรือ ทรงเปลี่ยนเข็ม เบนหัวเรือและลดฝีจักรเรือ รับสั่งให้ทางห้องเครื่องจักร ระวังเครื่องให้พร้อมเพรียงที่สุด ขณะนั้นภายในเรือ เกิดการโกลาหลชั่วขณะหนึ่ง แต่ด้วยพระสติปัญญา อันสุขุมของพระองค์ และทรงพิจารณาสั่งการต่างๆ ตลอดจนอธิบาย ให้นักเรียน และทหารในเรือมิให้ตื่นเต้น หรือหวาดกลัวจนเกินไป จนทำอะไรไม่ถูก จึงทรงหาทางปลอดภัย ให้แก่เรือได้ เรือหลวงมกุฎราชกุมาร จึงได้แล่นไปโดยสวัสดิภาพ จนเข้าช่องลิกา (Linga Strait) เพื่อทอดสมอ และทำพิธีข้ามเส้นอิเควเตอร์
    ขณะที่เรือหลวงมกุฎราชกุมาร ทอดสมอที่สิงคโปร์ นักเรียนนายเรือ ได้รับเชิญให้ไปดู การซ้อมรบของ ทหารอังกฤษ ซึ่งมีทหารประมาณ หนึ่งร้อยคน แต่งกายพรางตา เพื่อให้ข้าศึกเห็นเป็นหญ้าคา โดยเอาหญ้าคาเสียบไว้บนหมวกบ้าง บนบ่าบ้าง ฝ่ายทหารอังกฤษ จะเป็นฝ่ายเข้าตีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นแขกซิก มีจำนวนประมาณ ๒ กองร้อย นักเรียนนายเรือต่าง ได้รับคำสั่งให้แยกย้ายกันดู ไว้เป็นตัวอย่าง      เมื่อเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ได้กลับมาถึงชุมพร และจอดทอดสมอ ได้มีเจ้าเมืองชุมพร พร้อมด้วยข้าราชการ มาเฝ้าเสด็จในกรมฯ ได้รับสั่งให้ทำการฝึกยกพลขึ้นบก โดยให้แบ่งนักเรียนนายเรือ ออกทำการประลองยุทธ์ ทรงสั่งให้ควบคุมการฝึก อย่างเข้มแข็ง นักเรียนได้ทำการฝึกซ้อม การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ อย่างว่องไว และเข้มแข็งเป็นที่พอพระทัย ของเสด็จในกรมฯ เป็นอย่างมาก บรรดาข้าราชการ และประชาชนที่ได้เห็น ต่างพากันชื่นชมยินดี และสรรเสริญเสด็จในกรมฯ ว่าทรงพระปรีชาอย่างยิ่ง ในการฝึกฝนอบรมนักเรียนนายเรือ เพื่อให้เป็นนายทหารที่เข้มแข็งในอนาคต
     สำหรับการประลองยุทธ์ทางบกนี้ ยังได้ทรงให้มีการประลองยุทธ์อีกที่บางพระ วิธีการของพระองค์มีพอจะกล่าว เป็นสังเขปดังนี้ คือ ทรงแบ่งทหารออกเป็น ๒ กอง ก่อนออกฝึก ๗ วัน ทรงบัญชาการฝึก ความอดทนของทหาร โดยให้ใส่เครื่องสนามครบ เอาทรายใส่หลังแทนข้าวสาร วันแรกใส่ทราย ๑ ทะนาน วันต่อๆ ไปเพิ่มขึ้นวันละทะนานจนถึง ๗ ทะนาน และให้ฝึกทั้งเช้าและเย็น ทั้งนี้เพื่อให้กำลังทหารอยู่ตัว ในระหว่างการฝึกยังได้ทรงสอน วิธีหุงข้าว และหาอาหารในป่าด้วย กองทหารที่แบ่งออกเป็น ๒ กองนั้น จะแยกกันตั้งค่ายตามจุดของตน โดยจะสร้างเป็นหอคอยมีกำแพงล้อมรอบทำด้วยไม้ไผ่ และมีกองรักษาการณ์ตลอดเวลา เมื่อเริ่มออกทำการประลองยุทธ์ ต่างฝ่ายก็จะเดินทาง ไปยังจุดที่หมายพบกัน ณ ที่ใดก็เริ่มยิงต่อสู้กัน โดยใช้กระสุนซ้อมยิง จนกระทั่งถึงเวลาพักรบ ก็เลิกรากัน ต่างฝ่ายต่างกลับไปยังค่ายของตน เพื่อพักผ่อน เสด็จในกรมฯ รับสั่งให้ทำลายป้อมค่าย แล้วยกไปตั้งที่จุดใหม่ แล้วทำการรบอีกดังนี้ถึง ๓ ครั้ง
     นอกจากการประลองยุทธ์ทางบกแล้ว ยังได้ทรงจัดให้มีการประลองยุทธ์ทางทะเลอีกด้วย ทั้งนี้ ก็เนื่องจากทรงมีพระประสงค์ จะให้เจ้าหน้าที่ต่างๆ ได้มีการฝึกหัด ให้มีความชำนาญ และมีพระประสงค์จะเห็นความสามารถ ของเจ้าหน้าที่ด้วย ทรงให้ฝึกหัดหลายอย่าง เช่นฝึกหัดเตรียมรบ หัดทิ้งลูกดิ่ง หัดตีกรรเชียง หัดสละเรือใหญ่ เป็นต้น นับว่าได้ทรงฝึกหัดทหารเรือ และนักเรียนนายเรือให้มีความชำนาญในการรบ และปฏิบัติการด้วยความเข้มแข็ง และมีความอดทนอย่างแท้จริง โดยที่พระองค์ ได้ทรงบัญชาการฝึก ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดตลอด เป็นต้นว่า ช่วยลากเชือกวิ่งในเวลาชักเรือบต และขนถ่ายของจากเรือใหญ่ แม้แต่วิธีปฏิบัติในเรือ เกี่ยวกับการอาบน้ำ หรืออาหาร ก็ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกับทหารอื่นๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทหารทั้งหลาย ย่อมเห็นในพระอุตสาหะ และความห่วงใยของพระองค์ ที่มีต่อบรรดาทหารทั้งหลาย ทหารทั้งนั้นจึงได้รัก และเคารพในพระองค์ท่าน อย่างยิ่งประดุจว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งทหารเรือทั้งหลาย
     การออกฝึกครั้งนั้น นอกจากจะทำให้นักเรียนนายเรือ ได้รู้จักปฏิบัติการจริงๆ ทางทะเลแล้ว ยังทรงนำสิ่งใหม่ มาสู่วงการทหารเรืออีก คือ แต่เดิมเรือรบของไทยทาสีขาว พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนสี เรือมกุฎราชกุมาร ให้เป็นสีหมอก ตามแบบอย่างเรือรบอังกฤษ และต่อมาเรือรบทุกลำของไทย ก็ทาสีหมอกมาจนทุกวันนี้
     การที่เสด็จในกรมฯ ทรงนำนักเรียนนายเรือ ไปทำการอวดธง ในต่างประเทศครั้งนี้ จึงนับเป็นเกียรติแก่ทหารเรือไทย เพราะย่อมทราบกันทั่วไปว่า ชาติที่เป็นเอกราชเท่านั้น จึงจะมี "ธงราชนาวี" ของตนเองได้ ฉะนั้น เรือหลวงของราชนาวี จึงเป็นเสมือนประเทศไทยเคลื่อนที่ เมื่อไปปรากฎ ในต่างประเทศ ทหารเรือที่อวดธงครั้งนี้ แม้จะลำบากตรากตรำ ต่อหน้าที่การงานเพียงไร ทุกคนก็ภาคภูมิใจ ในเกียรติแห่งความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นที่ประทับใจอยู่มิมีเสื่อมคลาย นับว่าทหารเรือไทย ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสำเร็จ ก็เพราะพระวิริยะอุตสาหะของ เสด็จในกรมฯ
     ครั้นวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๑ เสด็จในกรมฯ ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เสด็จออกไปอำนวยการ ทดลองตอร์ปิโดที่สัตหีบ โดย ร.ล.เสือทยานชล และเรือตอร์ปิโดที่มิได้เข้าอู่ซ่อม เรือบุ๊กและเรือกว้าน ออกจากกรุงเทพฯ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์เสด็จในกรมฯ ทรงนำกระบวนเรือพิฆาตฯ และเรือตอร์ปิโด ไปฝึกหัดทางทะเล มีกำหนด ๑ เดือน
     ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเห็นความสำคัญของ กิจการทหารเรือ จึงได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า บริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ศกเดียวกันนี้ ก็ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง

งานอดิเรก

     ถ้าจะพูดกันอย่างชาวบ้านสามัญชน ก็กล่าวได้ว่าเสด็จในกรมฯ หรือพระนามที่ชาวจีน นิยมเรียกขานด้วยความรักเทิดทูนบูชา  ในพระองค์ผู้เปรียบเหมือน "พ่อ" จึงออกพระนามว่า "เสด็จเตี่ย" นั้น พระองค์ทรงเป็น "ชายชาติทหาร" อย่างเต็มตัว ฉะนั้นการกีฬาที่ทรงโปรดเป็นงานอดิเรก ก็คือการเล่นกีฬาแล่นเรือใบ ยามใดที่พอจะมีเวลาว่าง จากราชการแล้ว พระองค์ทรงโปรด ที่จะใช้เวลากับการแล่นเรือใบ โดยทรงถือท้ายเรือด้วยพระองค์เอง และยังทรงฝึกหัดให้ชายา และพระโอรสพระธิดา ได้หัดแล่นเรือใบในทะเล เพื่อให้มีความกล้าหาญ นอกจากความเพลิดเพลิน แล้วจะได้คุ้นเคย และถือทะเลเป็นเสมือนบ้าน ได้อีกความรู้สึกหนึ่งด้วย      นอกจากกีฬาแล่นเรือใบแล้ว กีฬาอีกประเภทที่ทรงโปรดก็คือ "มวย" และ "กระบี่กระบอง" เสด็จเตี่ยทรงฝึกหัดทั้งมวย และกระบี่กระบองอย่างเชี่ยวชาญ จนยากที่จะหาใครเทียบเคียงได้ และพระองค์ยังได้ ทรงสนับสนุนทหารเรือที่ช่ำชอง มีความสามารถในการชกมวยไทยอีกด้วย ทรงส่งนายยัง หาญทะเล เข้าชกชิงถ้วยชนะเลิศ ในการชกมวยไทย ซึ่งสมัยนั้นนักมวยยังใช้เชือกคาดมือชก พระองค์ทรงชุบเลี้ยงนายทหารเรือ ที่มีความสามารถในการชกมวย และกระบี่กระบอง ไว้มากมายหลายคน เนื่องเพราะทรงเห็นความสำคัญ ของศิลปะการต่อสู้แบบไทยแท ้และเป็นวิชาสำคัญในการป้องกันตัวอีกด้วย
     แต่ก็มิใช่แค่การกีฬาเท่านั้น ที่เป็นงานอดิเรกหรือฮ้อบบี้ที่ทรงโปรดปราน การศิลปะหรือเชิงวิจิตรศิลป์ ก็ยังเป็นอีกงานอดิเรกหนึ่ง ซึ่งเสด็จเตี่ย ทรงมีพระปรีชาสามารถ เป็นพิเศษ พระองค์ทรงเขียนภาพพุทธประวัติ ไว้ที่ผนังโบสถ์วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งก็ยังคง ปรากฏอยู่มาตราบจนทุกวันนี้ ภาพพุทธประวัตินั้น เป็นตอนพระพุทธเจ้า กับเบญจวัคคีย์ ภาพฝีพระหัตถ์อันงามวิจิตรที่ฝนังโบสถ์นั้น ก็บ่งบอกได้เป็นอย่างดี ถึงพระปรีชาสามารถ ในเชิงศิลปะของเสด็จเตี่ย และยังแสดงถึงพระทัย ที่ละเอียดอื่นลึกซึ้งอีกด้วย

เสด็จในกรมกับงานนิพนธ์

เสด็จในกรมหลวงฯ ทรงมีนิสัยในทางดนตรี โดยเฉพาะในเรื่องการแต่งเพลง ทรงพระปรีชาสามารถเป็นเยี่ยม ทรงนิพนธ์บทเพลงไว้หลายเพลง บทเพลงเหล่านั้น มีสาระสำคัญ ในการปลุกปลอบใจให้เข้มแข็ง ในยามทุกข์ส่งเสริมกำลังใจให้รักชาติ รักเกียรติ รักวินัยในยามสงบ และให้เกิดมุมานะกล้าตาย ไม่เสียดายชีวิตในยามศึก บทเพลงเหล่านั้น บรรดาทหารเรือทั้งหลาย ได้รับไว้เป็นพระอนุสรณ์ แห่งพระองค์ท่าน เกี่ยวกับบทเพลงพระพิพนธ์ นั้นนาวาตรีหลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์  เอกะวิภาค) เขียนจดหมายไว้ดังนี้
"... เรื่องเพลงทหารเรือที่เจ้าพ่อทรงแต่ง เมื่อทหารสวดมนต์ไหว้พระแล้ว ให้ทหารร้องเพลงเพื่อปลุกใจเวลาที่ผมประจำอยู่กับเจ้าพ่อ เมื่อยกกองทหารไปตั้งที่บางพระ ทหารกรุงเทพฯ กับทหารหัวเมืองร้องเพลงผิด ๆ ถูก ๆ ไม่เป็นระเบียบเจ้าพ่อจึงสั่งให้เรือเอกหลวงอาจณรงค์ เลขานุการของเจ้าพ่อเขียนตามคำบอกเสร็จแล้วใช้พิมพ์ดีดพิมพ์ แล้วลงพระนาม "อาภากร" ให้เอาไปปิดไว้ที่กองบัญชาการ ให้หัวหน้ากองทหารต่าง ๆ มาคัดเอาไปสอนทหาร ผมได้คัดมา ๑ ฉบับด้วยเหมือนกัน และได้จดลงในสมุดใหญ่เก็บรักษาไว้ที่บ้านมาจนถึงบัดนี้
เท่าที่ผมได้ยินร้องกันเวลานี้ มีแต่เพลง
๑. ฮะเบสสมอพลัน ออกสันดอนไป ...
๒. เกิดมาทั้งที มันก็มีอยู่แต่ทุกข์ภัย ...
๓. เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น ... "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น